ธรรมชาติกับเชาวน์ปัญญา

ลูกวัวกับเด็กที่เกิดได้เพียง 1 วันพร้อมกัน ถามว่า "ใครฉลาดกว่ากัน"

ทำไมลูกวัวที่เกิดได้เพียง 1 วันจึงฉลาดกว่าเด็กที่เกิดมาพร้อมกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี เด็กกลับฉลาดกว่าลูกวัว ที่เป็นเช่นนี้เพราะสัตว์อยู่รอดด้วยสัญชาตญาณ ส่วนมนุษย์อยู่รอดด้วยการเรียนรู้ และก็ตรงกับแนวคิดของมอนเตสชอรี่ นักวิชาการชาวอิตาลี ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า "สัญชาตญาณของสัตว์คงที่ สัญชาตญาณของมนุษย์พัฒนาได้"

ธรรมชาติมอบความฉลาดให้กับสัตว์ต่างๆ ไม่เท่าเทียมกัน บางชนิดได้มากบางชนิดได้น้อย แต่ก็ไม่มากเท่ามนุษย์ ธรรมชาติตั้งใจมอบความฉลาดให้กับมนุษย์มากกว่าสัตว์อื่นก็จริงอยู่ แต่ก็ไม่ได้ให้ง่ายๆ จะต้องฝึกหัดก่อนจึงจะเกิดได้ เช่นเดียวกับการว่ายน้ำเป็นของมนุษย์ จะต้องฝึกก่อนจึงจะว่ายเป็น และจะว่ายน้ำเป็นตลอดไป ซึ่งต่างจากสัตว์ เช่น สุนัข ลิง วัว ม้า ฯลฯ เกิดมาก็ว่ายน้ำเป็นโดยสัญชาตญาณไม่ต้องฝึกมาก่อน

ส่วนตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นระหว่างลูกวัวกับเด็กนั้น ลูกวัวเกิดมาก็ฉลาดโดยสัญชาตญาณ ลูกวัวรู้ว่านี่คือแม่วัว นี่คือนมสามารถเดินไปกินได้เอง และรู้ว่าสุนัขนั้นเป็นศัตรูจะต้องคอยหลบหลีกจึงจะปลอดภัย วัวมีความฉลาดเท่านี้ เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี ความฉลาดก็ยังคงเท่าเดิม หรืออาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ต่างกับเด็กที่เกิดมา 1 วัน เด็กจะไม่รู้เรื่องอะไรทั้งสิ้น ถือได้ว่าความฉลาดนั้นเกือบเท่าศูนย์ เด็กทารกไม่รู้ว่านี่คือแม่ ไม่รู้ว่านี่คือนมแม่ ถ้าสมมุติว่ามีใครเอานิ้วมือชนที่ปากเด็ก เด็กจะตอบสนองดูดทันที ไม่รู้ว่าคืออะไร และไม่รู้อีกว่าอะไรคือศัตรู เด็กไม่กลัวอะไรทั้งนั้นช่วยตัวเองไม่ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี เด็กเริ่มมีการพัฒนาทางร่างกาย และสมอง เด็กมีความฉลาดเพิ่มขึ้น รู้ว่านี่คือแม่, พ่อ, นม, น้ำ รู้สิ่งต่างๆ รอบตัวได้มาก และสามารถแสดงกิริยาอาการต่างๆ ที่อยู่ในใจออกมาให้เห็นได้

ความฉลาดของเด็กควรเริ่มฝึกตั้งแต่เมื่อใด

มร. มะสุรุ อิยุกะ ผู้ก่อตั้งอุตสาหกรรม โซนี่ ของประเทศญี่ปุ่น ได้เขียนในหนังสือเล่มหนึ่งว่า KIDDER GARTEN IS TOO LATE "ชั้นอนุบาลก็ยังสายเกินไป"

การว่ายน้ำเป็นของมนุษย์ ถ้าไม่ยอมฝึกหัดเลยก็จะว่ายไม่เป็น แต่ถ้าเริ่มหัดว่ายน้ำเมื่อใดก็เริ่มว่ายน้ำเ้ป็นเมื่อนั้น การฝึกความฉลาด หรือการเรียนรู้ของเด็กก็เช่นกัน ถ้าเริ่มฝึกเมื่อใดก็จะเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อนั้น และการพัฒนาการของเด็กจะค่อยๆ เป็นไปทีละขั้นทีละตอน แต่ถ้าเราไม่ฝึกเด็กเลย ความฉลาดย่อมหยุดนิ่ง

การฝึกเชาว์ปัญญาเด็กจำเป็นต้องมีอุปกรการฝึก และอุปกรณ์ที่หาได้ง่ายก็คือ ของเล่นประเทืองปัญญา หนังสือต่างๆ หรือกิจกรรมกลุ่มที่สนุก และการเล่นเกมแข่งขัน

การเพาะกายของชายงาม ช่วยกระตุ้นให้เซลล์เนื้อเยื่อเจริญได้สมบูรณ์ กล้ามเนื้อจึงสวยงาม ถ้าหยุดกิจกรรมกล้ามเนื้อจะเหี่ยว ถ้าเริ่มเมื่อวัยเยาว์กล้ามเนื้อจะสมบูรณ์ดีกว่าวัยผู้ใหญ่ เมื่อกล้ามเนื้อมากย่อมมีพลังมาก การฝึกเด็กให้ได้คิดเป็นประจำด้วยอุปกรณ์ก็เช่นกัน ช่วยทำให้ใยประสาทภายในสมองเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ ถ้าจำนวนใยประสาทมากย่อมมีพลังความคิดมาก

รู้ได้อย่างไรว่าเด็กคนนี้ฉลาด

เด็กที่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ผลดีเยี่ยม เป็นต้นว่า ทำงานได้สำเร็จ ถูกต้อง รวดเร็ว มีวิธีทำแบบง่ายๆ และมีความมั่นใจ ย่อมรู้ได้ว่าเด็กคนนั้นเป็นเด็กฉลาด

ทำไมเด็กฉลาดจึงเก่งกว่าเด็กทั่วไป

เด็กฉลาดนั้นมีกฎเชาวน์ปัญญาในสมองแล้ว แต่ละคนมีมากน้อยไม่เท่ากัน กฎเชาวน์ปัญญาที่ว่านี้คือกฎคณิตศาสตร์นั่นเอง เช่นกฎการเท่ากัน กฎการสมมาตร กฎการอินเวอร์ส เป็นต้น จะกล่าวถึงอย่างละเอียดในตอนต่อไป

ความฉลาดเกิดได้อย่างไร

- รายงานของคณแพทย์ญี่ปุ่นได้ทดลองความแตกต่างระหว่างคนตาบอดกับคนตาดี

ครั้งที่ 1 คณะแพทย์ได้ให้คนตาบอดคลำอักษรเบล แพทย์พบว่า เลือดที่ไปเลี้ยงสมองตรงประสาทสัมผัสนั้นไหลเวียนได้เร็วกว่าคนตาดีที่คลำอักษรเบล เพราะคนตาบอดรู้ และเข้าใจอักษรเบล จึงตื่นเต้น

ครั้งที่ 2 คณะแพทย์ได้ให้คนตาดีมองรูปภาพสวยๆ แพทย์พบว่า เลือดที่ไปเลี้ยงสมองตรงประสาทการมองเห็นนั้นไหลเวียนได้เร็วกว่าคนตาบอดมองภาพ เพราะคนตาบอดมองไม่เห็นจึงเฉยๆ

ครั้งที่ 3 คณะแพทย์ได้ให้คนทั้งสอง คลำอักษรที่คล้ายๆ กับอักษรเบล พบว่าทั้งสองคนมีการไหลเวียนของเลือดภายในสมองปกติ เพราะทั้งคู่ไม่รู้เรื่อง

สรุปได้ว่า การตื่นตัวของสมอง ย่อมส่งผลให้เลือดในสมองไหลเวียนได้เร็ว

- จิตแพทย์ไทยผู้หนึ่งเคยกล่าวว่า คนเราเครียดมากเกินไปไม่ดี เครียดนิดจะดี

- ผู้ที่ขับรถยนต์เป็นประจำส่วนใหญ่ จะฉลาดกว่าผู้ใช้แรงงานที่มีวุฒิการศึกษาเท่ากัน จะพบว่าผู้ขับรถยนต์เป็นประจำมักพูดคุยได้เก่ง จดจำสิ่งต่างๆ ได้แม่นยำ เข้าใจอะไรได้เร็ว เพราะสมองของผู้ขับรถยนต์เป็นประจำจะถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวตลอดเวลาขณะขับรถ สมองจึงมีคุณภาพดีกว่า

จากข้อมูลข้างต้นพอสรุปได้ว่า สิ่งเร้าภายนอกจะกระตุ้นให้สมองตื่นตัว หรือตื่นเต้น ทำให้กระแสโลหิตไหลเวียนได้เร็ว ส่งผลให้ใยประสาทในสมองเจริญขยายตัวได้ดีขึ้น จะทำให้สมองนั้นมีคุณภาพ เมื่อสมองมีคุณภาพย่อมทำให้ผู้นั้นจดจำสิ่งต่างๆได้แม่นยำ เข้าใจสิ่งต่างๆได้ง่าย คิดอะไรได้เร็ว และแก้ปัญหาต่างๆได้สำเร็จ

ทำอย่างไรเด็กจึงมีการตื่นตัวของสมอง

ควรหายุทธวิธีเล้าใจ ปลุกใจ ให้เด็กได้เกิดการตื่นตัว ไม่ใช่วิธีบังคับ เพราะการบังคับไม่ทำให้สมองตื่นตัว ควรทำให้เด็กกระหาย เมื่อเด็กกระหายแล้วก็จะอยากรู้ อยากเห็น อยากจำ และอยากคิดต่อสิ่งนั้นๆ เด็กทำงานด้วยกายและวิญญาณ จึงจะมีความสุขต่องานนั้นด้วย

สติปัญญาคืออะไร

สติปัญญาคือ ความสามารถที่ประกอบกิจกรรมจนสำเร็จสมประสงค์ แม้ตกอยู่ใต้ภาวะที่ต้องอาศัยพลังสมาธิอันเข็มแข็ง ต้องต่อต้านแรงอารมณ์ของตนซักเพียงไร ก็ยังดำเนินกิจกรรมนั้นไปได้โดยมิได้ย่อท้อ

สติปัญญาที่สมบูรณ์แบบ

จากรูป ตัวอ่อนสมองจะผลิตเซลล์ประสาทในปริมาณมาก เซลล์ที่สมองจะส่งสายใยโยงไปมาเข้าหากัน เพื่อให้คลื่นไฟฟ้าติดต่อกันได้ หลังคลอดประสบการณ์ภายนอกจะกระตุ้นให้ประสาทสร้างเซลล์ตัวใหม่เพิ่มขึ้น

ขั้นตอนการพัฒนาของเด็ก

- สัปดาห์ที่ 3 ของการตั้งครรภ์ สมองเริ่มต้นการทำงาน

- สัปดาห์ที่ 10 ถึง 12 หลังการตั้งครรภ์ หากมีการดักฟังในสมองของเด็กจะได้ยินเสียงเป็นจังหวะตลอดเวลา มันเป็นเสียงของเซลล์สมองที่ส่งกระแสคลื่นไฟฟ้าเพื่อติดต่อกัน เป็นการเชื่อมโยงของวงจรที่ก่อตัวขึ้นในสมอง

- 6 เดือนของการตั้งครรภ์ เด็กเริ่มแยกเสียงต่างๆ เพื่อใช้สร้างคำพูดของตัวเองได้ พ่อแม่ควรพูดกับลูกบอยๆ และอ่านหนังสือให้ฟัง

- ตอนแรกเกิด ทารกมีเซลล์ประสาทอยู่หนึ่งแสนล้านเซลล์ สมองของเด็กเริ่มการจัดวางระบบการทำงาน มีจุดเชื่อมโยงวงจรมากกว่าหมื่นล้านจุด เด็กเริ่มมองเห็น แต่ยังไม่ชัดเจน ขาดความสัมพันธ์ระหว่างมือ และสายตา พ่อแม่ควรฝึกการใช้สายตา

- ในช่วง 2 เดือนหลังคลอด เด็กเริ่มเก็บประสบการณ์ต่างๆ เพื่อสร้างความรู้สึกของตัวเอง พ่อแม่ควรให้ความรักและเอาใจใส่อย่างมีเหตุผล เด็กเอื้อมมือหยิบฉวยของที่อยู่ใกล้ๆได้

- 4 เดือนหลังคลอด เด็กได้สังเกต และมองเห็น

- 12 เดือนหลังคลอด เด็กเริ่มพูดคำแรกได้

- ในช่วง 1-3 ปี เซลล์สมองของทารกได้พัฒนาอย่างไร้ขอบเขต และประสานกัน ซึ่งก่อให้เกิดการสั่งสมประสบการณ์ในชีวิต

- ช่วงอายุ 2 ปี สมองของเด็กจะมีจุดเชื่อมโยง และต้องการพลังงานมากกว่าสมองของผู้ใหญ่ถึง 2 เท่า

- ช่วงอายุ 4 ปี เด็กจะพัฒนาการเคลื่อนไหวที่ละเอียดอ่อนมากขึ้น พ่อแม่ควรให้อิสระการเคลื่อนไหวที่ไม่เป็นอันตราย ตั้งแต่การหยิบ จับสิ่งของ วาดภาพ การเล่นดนตรี

- ช่วงอายุ 1-6 ปี การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศทำได้ดีที่สุด และหลังจากนั้นความสามารถจะค่อยๆลดลง

- ช่วงอายุ 10 ปี สมองของเด็กจะเติบโตเต็มที่ จุดเชื่อมโยงที่อ่อนแอก็จะถูกทำลาย เหลือเพียงวงจรสมองที่ได้รับอิทธิพลจากประสบการณ์ต่างๆก่อนหน้านี้

- อายุ 16 ปี สมองจะเกิดการอยู่ตัว เจริญช้า

- ช่วงวัยรุ่นอายุราว 18 ปี เป็นช่วงที่เด็กจะแสดงออกซึ่งพรสวรรค์ และพฤติกรรมอันโดดเด่นที่ได้รับจากการอบรมเลี้ยงดู และประสบการณ์ที่สั่งสมได้โดยสมองออกมาอย่างเต็มที่

 
อ่านบทความอื่นๆ